ประเทศไทย: หยุดการคุกคามผู้นำประท้วง

ประเทศไทย: หยุดการคุกคามผู้นำประท้วง - Civic Space

วันนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง 18 นักกิจกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย นักกิจกรรมสามคน ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ภาณุพงศ์ จาดนอก และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีบทลงโทษการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม และอาฆาตมาดร้ายสมาชิกของราชวงศ์ ในขณะที่นักกิจกรรมทั้งหมด 18 คนเผชิญกับข้อหายุยงปลุกปั่น และศาลอาญากรุงเทพมีคำสั่งไม่ให้ประกันสำหรับปนัสยา ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ ทั้งสามคนจะถูกคุมขังจนกว่าจะมีการพิจารณาคดี ส่วนแอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หนึ่งในนักกิจกรรม 18 คนที่ถูกสั่งฟ้องวันนี้เช่นกันได้อยู่ในความควบคุมของตำรวจจากอีกคดีหนึ่งภายใต้มาตรา 112 การสั่งฟ้องนักกิจกรรมทั้ง 18 คนและการคุมขังปนัสยา ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ เป็นความพัฒนาการล่าสุดในการยกระดับการปราบปรามขบวนการประท้วงของคนรุ่นใหม่ซึ่งเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในรายงานที่มีการเผยแพร่อาทิตย์ที่แล้ว ARTICLE 19 ได้ย้ำถึงการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายใต้มาตรา 112 มุ่งเป้าไปที่ผู้นำการประท้วง

ดาบิด ดิอาซ-ฮอเกซ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายโครงการของ ARTICLE 19 กล่าวว่า

“หลังจากล้มเหลวในการใช้รถฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาในการจัดการผู้ประท้วง รัฐบาลกำลังใช้การโจมตีทางกฎหมายต่อผู้นำการประท้วง เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้กฎหมายจำนวนหลายมาตราที่มีโทษหนักในการจับกุม ตั้งข้อหา คุมขัง ผู้คนที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปหรือท้าทายอำนาจที่มีอยู่”

“การใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อคุมขังนักกิจกรรมเป็นการกลับไปสู่ยุคของการกดขี่อีกครั้งในประวัติศาสตร์ไทย ประเทศไทยควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้มาตรา 112 และทำให้แน่ใจว่าตัวกฎหมายจะถูกยกเลิกอย่างทันท่วงที ประชาชนชาวไทยจะไม่มีวันได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ตราบเท่าที่ยังต้องอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของมาตรา 112”

“ความสามารถในการประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจเป็นส่วนสำคัญของการใช้เสรีภาพในการแสดงออก พิจารณาจากบทบาทสำคัญของผู้คนเหล่านี้ในสังคม ประมุขของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ จะต้องมีความอดทนอดกลั้นที่มากกว่าประชาชนธรรมดาหากถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ หลักการข้อนี้ถูกทำให้กลับหัวกลับหางในประเทศไทย”

Posted In