ประเทศไทย: ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ประเทศไทย: ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ - Civic Space

มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีการเอาผิดการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายเชื้อพระวงศ์ ไม่สอดคล้องกับสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสิ้นเชิง องค์กร ARTICLE 19 ระบุในรายงานสรุปที่ถูกเผยแพร่ในวันนี้ว่า รัฐบาลไทยต้องยุติการดำเนินคดีทางอาญาภายใต้มาตรา 112 ทั้งหมดโดยทันที และยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวทั้งสิ้นโดยบริบูรณ์

“ผู้ชุมนุมชาวไทยควรมีสิทธิมีเสียงในการเสนอข้อเรียกร้องของตน แม้ว่าข้อเรียกร้องนั้นจะเกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคลหรือสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศก็ตาม” นายดาบิด ดิอาซ-ฮอเกซ์ ผู้อำนวยการโครงการอาวุโสของ ARTICLE 19 กล่าว “ไม่ควรมีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดอยู่เหนือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ มันมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาชนจะสามารถพูดถึงสถาบันกษัตริย์และเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้มาจาการเลือกตั้งอย่างเปิดเผย ซึ่งไม่สามารถถูกเรียกร้องความรับผิดชอบผ่านระบบการลงคะแนนเสียงได้”

รายงานสรุป “ทลายความเงียบงัน: การกลับมาใช้ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในประเทศไทย” เป็นการสำรวจประวัติศาสตร์และการบังคับใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่เกิดขึ้นล่าสุด พร้อมวิเคราะห์ตัวบทกฎหมาย โดยนำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านเสรีภาพในการแสดงออก และได้สรุปปิดท้ายด้วยข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย

มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งในกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่เข้มงวดที่สุดในโลก โดยระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

ในปี 2563 ได้เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนปะทุขึ้นทั่วประเทศ ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการยุติการคุกคามนักกิจกรรมและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เมื่อขบวนการณ์กลายเป็นกระแสในวงกว้างขึ้น ผู้ชุมนุมได้เริ่มตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ซึ่งนับเป็นพัฒนาการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ประเทศไทยสมัยใหม่ นักกิจกรรมมีการเรียกร้องให้มีการลดทอดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีการโพสต์ถึงการที่กษัตริย์ใช้เวลาอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน และผู้ชุมนุมมีการแต่งตัวล้อเลียนการแต่งกายของกษัตริย์

ในระยะแรก เจ้าหน้าที่ได้พยายามสกัดกั้นการจัดการชุมนุมและปิดกั้นการพูดคุยในประเด็นสถาบันกษัตริย์ด้วยการใช้กฎหมายฉบับอื่นๆ และใช้กำลังในการปราบปรามผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรการเหล่านี้ไม่เป็นผลสำเร็จ รัฐบาลได้หันกลับมาใช้มาตรา 112 อีกครั้งแทน ในเดือนพฤศจิกายน 2563 นายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาการนำข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ซึ่งถือเป็นการยุติการพักการใช้มาตราดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 ปีในทางปฏิบัติ

จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มดำเนินการสอบสวนประชาชนจำนวนอย่างน้อย 59 คน ภายใต้ข้อหามาตรา 112 แล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมแนวหน้าที่ข้องเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง หลายคนต้องเผชิญกับการดำเนินคดีหลายคดีพร้อมกัน และอาจถูกจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี หากถูกตัดสินว่าผิด

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ที่ปรึกษาของ ARTICLE 19 เป็นหนึ่งในผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันจากการเข้าร่วมชุมนุมอย่างสันติ หมายเรียกของตำรวจระบุเหตุผลว่ามาจากการอ้างอิงถึงผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติในการปราศรัยในที่ชุมนุมอย่างสันติดังกล่าว ในการปราศรัยนั้น พิมพ์สิริได้อ้างแถลงการณ์ของ เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติในด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ว่า มาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในเดือนมกราคม ศาลได้พิพากษาเอาผิดบุคคลสองรายในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการกระทำความผิดเมื่อหลายปีก่อน หนึ่งในคดีนั้น ได้แก่ กรณีศาลในกรุงเทพมหานครพิพากษาจำคุกข้าราชการรายหนึ่งเป็นเวลา 43 ปีในคดี 112 จากการแชร์คลิปวิดีโอบนเฟซบุคและยูทูบ

คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่มีการเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ส่วนใหญ่กำลังอยู่ในชั้นสอบสวน และผู้ต้องหายังเป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องนักกิจกรรมแนวหน้า 4 คนอย่างเป็นทางการด้วยข้อหาทั้งภายใต้มาตรา 112 และ 116 ซึ่งเป็นข้อหาความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ศาลอาญากรุงเทพฯ ได้ปฏิเสธคำร้องขอการประกันตัวของพวกเขา ตอนนี้พวกเขาทั้งสี่คนกำลังรอการพิจารณาคดีอยู่ในเรือนจำ คาดว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะทำการตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องนักกิจกรรมอีก 16 คน ในข้อหาละเมิดมาตรา 112 หรือไม่ ภายในเดือนนี้

มาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก แม้ว่าสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกอาจถูกจำกัดได้บ้างเพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้อื่น แต่การลงโทษทางอาญาก็ไม่ใช่บทลงโทษที่ได้สัดส่วนสำหรับความเสียหายด้านชื่อเสียงนี้ นอกจากนั้น กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองพิเศษแก่ประมุขของรัฐและเจ้าหน้าที่สาธารณะระดับสูงสวนทางกับหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานว่า รัฐบาลจะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างติเตือนต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หลายครั้งหลายครา และเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกมาตรา 112 เสีย

“มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ตกยุค เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และสมควรถูกตัดออกจากประมวลกฎหมายของประเทศไทย” ดิอาซ-ฮอเกซ์ กล่าว “คุณไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของประชาชนโดยการปิดปากพวกเขา กฎหมายไทยควรเป็นหลักประกันเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่ศัตรู”

อ่านรายงาน