ประเทศไทย: ยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา

ประเทศไทย: ยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา - Civic Space

ARTICLE 19 กล่าวในรายงานชิ้นใหม่ที่ถูกเผยแพร่ในวันนี้ว่าข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางอาญาในกฎหมายไทยไม่สอดคลองกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และถูกใช้ในการปิดปากการรายงานข่าวและการรายงานประเด็นสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า รัฐบาลไทยควรยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาโดยการดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และควรดำเนินการเพื่อส่งเสริมสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก

รายงานฉบับใหม่ของ ARTICLE 19 ‘ความจริงที่ต้องพูดถึง:กรณีสนับสนุนการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทย‘ เป็นการวิเคราะห์ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางอาญาในกฎหมายไทยต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเน้นย้ำถึงฉันทามติทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อการยกเลิกความผิดทางอาญาในการหมิ่นประมาทนี้ รายงานฉบับใหม่ยังอธิบายถึงแนวโน้มในการดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา และนำเสนอกรณีเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปข้อกฎหมายพร้อมให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง

“ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางอาญามีผลเสียมากกว่าผลดี ข้อกฎหมายนี้เปิดช่องให้บริษัทและผู้มีอิทธิพลใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างไม่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบการกระทำผิด” Matthew Bugher หัวหน้าโครงการเอเชียของ ARTICLE 19 กล่าว “สังคมไทยจะน่าอยู่และปลอดภัยขึ้น หากการหมิ่นประมาทเป็นประเด็นทางแพ่งเท่านั้น”

มาตรา 326 – 328 ของประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยได้บรรจุความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท (ประมาณ 6,400 เหรียญสหรัฐ) ข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้มีระดับต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนั้น เอกชนสามารถเป็นผู้ฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อบุคคลอื่นได้เองโดยการยื่นข้อร้องเรียนต่อตำรวจหรือต่อศาลโดยตรง ปัจจัยเหล่านี้เอื้อให้เกิดการใช้กฎหมายตามอำเภอใจและการละเมิดสิทธิต่อนักเคลื่อนไหว นักข่าว เปิดเผยข้อมูลการกระทำผิด (Whistleblower) และบุคคลอื่นๆ ที่ทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นอีกกฎหมายที่บรรจุตัวบทซึ่งถูกนำมาใช้ในการเอาผิดเนื้อหาทางอินเตอร์เน็ตที่ถูกมองว่าเป็นการใส่ความอยู่เป็นประจำ มาตรา 14(1) กำหนดบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนเป็นอย่างมากนั่นคือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี สำหรับการนำเข้า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ” ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือประชาชน

ในปี 2561 ประเทศไทยได้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยได้เพิ่มบทบัญญัติ 2 ข้อ ได้แก่ มาตรา 161/2 และ 165/2 ซึ่งให้ช่องทางแก่ผู้พิพากษาในการยกฟ้องคดีที่ไม่มีมูลหรือที่ถูกฟ้องอย่างไม่สุจริต อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษายังไม่ได้มีการนำข้อกฎหมายดังกล่าวมาใช้อย่างสม่ำเสมอในการป้องกันการดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้งด้วยข้อหาการหมิ่นประมาททางอาญา

จากสถิติที่ ARTICLE 19 ได้รับจากสำนักงานศาลยุติธรรม พนักงานอัยการและเอกชนได้ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากว่า 25,000 คดีต่อศาลตั้งแต่ปี 2558 โดยคดีที่ยื่นฟ้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี บ่อยครั้ง การดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาได้ปิดกั้นบุคคลที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การทุจริตคอร์รับชัน หรือความบกพร่องในการทำงานของรัฐบาลและบริษัท บริษัท ธรรมเกษตรเพียงบริษัทเดียวได้เป็นผู้ยื่นฟ้องคดีถึง 39 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญา ต่อบุคคล 23 คน ได้แก่ แรงงานข้ามชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว นักวิชาการ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คดีเหล่านี้เป็นผลมาจากการรายงานอย่างน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานในฟาร์มไก่ของบริษัท ถึงแม้ว่าบริษัทธรรมเกษตรจะแพ้คดีความในชั้นศาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่บริษัทยังคงดำเนินการฟ้องคดีใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากคดีข้างต้นเหล่านี้ บุคคลที่ทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะต้องรับภาระกระบวนการทางคดีและทางศาลที่กินเวลาหลายปี เพียงเพื่อที่จะถูกยกฟ้องทุกข้อหาในท้ายที่สุด การต่อสู้ทางคดีที่ยาวนานและเหน็ดเหนื่อยบวกกับโทษจำคุกที่สูงเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่องานข่าวและทำให้ภาคประชาสังคมอ่อนแอ ประสบการณ์ของประเทศไทยรวมถึงประสบการณ์ในหลายประเทศชี้ว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางอาญาไม่มีความจำเป็น ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ง่าย และเป็นอุปสรรคต่อใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก

รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการดำเนินคดีหมิ่นประมาทเลื่อนลอยดังกล่าว ในแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รัฐบาลได้ระบุว่าโจทก์มักฟ้องคดีโดยไม่สุจริตเพื่อ “กลั่นแกล้ง” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่างๆ รวมถึงตามที่ระบุในแผนปฏิบัติการแห่งชาติฯ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการยับยั้งคลื่นของการฟ้องดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทที่ไม่มีมูลได้

ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้รัฐพิจารณายกเลิกความผิดทางอาญาของการหมิ่นประมาท และระบุว่าโทษจำคุกไม่ใช่การลงโทษที่เหมาะสมสำหรับการหมิ่นประมาท รัฐบาลไทยควรยกเลิกมาตรา 326 – 333 ของประมวลกฎหมายอาญาและแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยทันที รวมถึงยกเลิกโทษจำคุกสำหรับการหมิ่นประมาททั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก

“รัฐบาลได้ตระหนักถึงอันตรายของการฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทอันเลื่อนลอยและการฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทเพื่อแก้แค้นเอาคืนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ” Bugher กล่าว “ประเทศไทยควรเข้าร่วมกับความเคลื่อนไหวทั่วโลกในการยกเลิกความผิดทางอาญาของการหมิ่นประมาท”

 

อ่านรายงาน