ประเทศไทย: ยกเลิกข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุกคามเสรีภาพออนไลน์โดยทันที

ประเทศไทย: ยกเลิกข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุกคามเสรีภาพออนไลน์โดยทันที - Digital

ในวันนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติจำนวน 17 องค์กรได้ร่วมกันการประณามข้อกำหนดฉบับที่ 29 ของรัฐบาลไทยที่เพิ่งประกาศใช้ โดยข้อกำหนดฉบับที่ 29 นี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเซ็นเซอร์การแสดงออกในพื้นที่ออนไลน์ สืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีต่อบุคคลที่ทำการสื่อสารใดๆ ที่อาจ “ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ประกาศฉบับนี้เป็นก้าวย่างล่าสุดของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย

องค์กรที่ได้ลงนามด้านล่างนี้มีความกังวลว่าประกาศฉบับนี้จะส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท อย่างไม่จำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และเป็นไปตามอำเภอใจ โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีถ้อยคำที่ซ้ำกับข้อกำหนดฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ออกตามความในมาตรา 9(3) ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ข้อกำหนดทั้งสองฉบับห้ามการเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งข้อความอันอาจ “ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” หรือ “เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” นอกจากนั้น ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ยังให้อำนาจเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้ารัฐในการบังคับใช้กฎหมาย โดยขยายขอบเขตอำนาจในการเซ็นเซอร์ข้อความออนไลน์และสืบสวนสอบสวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ข้อกำหนดฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของประเทศไทยและพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งกำหนดให้ประเทศไทยต้องเคารพและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร นอกจากนั้น ข้อกำหนดฉบับนี้ยังบ่อนทำลายสิทธิในสุขภาพซึ่งได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการรับรองว่าผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ อีกทั้งรับรองสิทธิของบุคคลต่างๆในการแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โรคระบาด

การใช้ถ้อยคำอย่าง “ความหวาดกลัว” “ความมั่นคง” “ความสงบเรียบร้อย” หรือ “ศีลธรรมอันดี” ตามที่ปรากฏในข้อกำหนดนั้นคลุมเครือและกินความกว้างเกินไป คำเหล่านี้ถูกใช้โดยปราศจากการอธิบายถึงขอบเขต ข้อจำกัด หรือคำจำกัดความ ซึ่งขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย (Legality) ตามที่ถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น บทบัญญัติเหล่านี้ยังไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน (Proportionality) และหลักความจำเป็น (Necessity) โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อกำหนดจากการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้อาจจะถูกจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าข้อความที่ถูกอ้างถึงในข้อกำหนดฉบับนี้ปรากฏในพื้นที่ออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จะต้องทำการแจ้งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) ทราบเพื่อระบุเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อความนั้น และระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพีนั้นทันที ผู้ให้บริการยังจะต้องรายงานรายละเอียดที่ค้นพบให้กับสำนักงาน กสทช. และสำนักงาน กสทช. จะต้องส่งหลักฐานตามที่ได้รับแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ข้อกำหนดฉบับนี้ยังกำหนดให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยให้ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ การระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตต่อเลขที่อยู่ไอพีที่กล่าวมานั้นเป็นการรุกล้ำต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลต่าง ๆ อย่างเกินพอดี นอกจากนั้น การลงโทษผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงาน กสทช. ยังเป็นการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างไม่ได้สัดส่วนและไม่จำเป็น และทำให้ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารเกิดความหวาดกลัว

อำนาจที่ถูกมอบให้สำนักงาน กสทช. ในการออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระงับการให้บริการแก่เลขที่อยู่ไอพีโดยที่สำนักงาน กสทช. ไม่ใช่องค์กรตุลาการ นั้น ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งระบุว่าการจำกัดเนื้อหาใด ๆ นั้นจะกระทำได้ภายใต้คำสั่งของเจ้าหน้าที่องค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง อีกทั้งต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น ความได้สัดส่วน และเป็นไปตามกระบวนการอันควรแห่งกฎหมาย

แม้ว่าการยุติการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนในช่วงที่มีโรคระบาดจะมีความจำเป็น แต่วัตถุประสงค์ที่ว่านี้จะต้องถูกนำไปปฏิบัติภายใต้วิธีการที่ได้สัดส่วน เพื่อเป้าหมายที่ชอบธรรมและมีการจำกัดความอย่างชัดเจน โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ วิธีการที่รุกล้ำตามอำเภอใจประกอบการลงโทษทางอาญา โทษปรับอัตราสูง และการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพีนั้นไม่เข้าเกณฑ์ที่ว่านี้

ข้อกำหนดฉบับที่ 29 เป็นความพยายามล่าสุดของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการควบคุมการแสดงออกและข้อมูลข่าวสารออนไลน์อย่างเกินควรผ่านกฎหมายและข้อกำหนดที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้อกำหนดและกฎหมายที่ว่านี้ ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกำหนดฉบับที่ 1 และ 27 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 บทบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา

เจ้าหน้าที่รัฐไทยยังบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้เพื่อลงโทษทางอาญาต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่า “ปล่อยข่าวปลอม” และบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งผ่านทางหน้าเพจ Facebook ของตนเอง ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อบุคคล ผู้มีชื่อเสียง สื่อมวลชน หรือผู้เป็นเจ้าของเพจต่าง ๆ สำหรับการเผยแพร่ “ข่าวปลอม” ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ที่อาจจะสร้างความสับสนให้แก่สาธารณชน

ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 แร็ปเปอร์ ดนุภา “มิลลิ” คณาธีรกุล ต้องจ่ายค่าปรับ 2,000 บาทหลังจากรับสารภาพในข้อหา “ดูหมิ่น” นายกรัฐมนตรีผ่านช่องทางออนไลน์ ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 องค์การเภสัชกรรมแจ้งความดำเนินคดีต่อนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการกลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป และลอย ชุนพงษ์ทอง นักคณิตศาสตร์ ในข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” จากการที่ทั้งสองได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา

เจ้าหน้าที่รัฐไทยควรยกเลิกหรือแก้ไขเนื้อหาของข้อกำหนดฉบับที่ 29 รวมถึงกฎหมายและข้อกำหนดที่กล่าวไปข้างต้นซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลโดยทันที และทำการแก้ไขให้บรรดากฎหมายและข้อกำหนดเหล่านี้สอดคล้องกับพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐไทยควรยุติการคุกคามและการดำเนินคดีต่อบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร และยุติการตั้งข้อกล่าวหาต่อบุคคลที่กำลังถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายเหล่านี้

ความเป็นมา

ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ออกตามความในมาตรา 9(3) ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลไทยได้ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ทุกพื้นที่ทั่วประเทศโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอ้างเหตุในการจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ออกข้อกำหนดใหม่ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหลายฉบับ โดยข้อกำหนดบางส่วนนั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทยที่ต้องเคารพและรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร

มาตรา 9 ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศที่เกี่ยวข้องได้รับรองการถ่ายโอนอำนาจภายใต้กฎหมาย 31 ฉบับจากรัฐมนตรีไปสู่นายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนอำนาจนี้ไม่ได้รวมถึงอำนาจใดที่เชื่อมโยงถึงสำนักงาน กสทช.

ข้อ 19 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกำหนดให้ประเทศไทยมีพันธกรณีในการเคารพและรับรองสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารของบุคคลทุกคนภายใต้ขอบเขตอำนาจตน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ชี้แจงไว้ในข้อเสนอแนะทั่วไปหมายเลข 34 (General Comment No. 34) ว่าการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในความคิดเห็นนั้นควรขยายไปถึง “การสนทนาทางการเมือง ความเห็น… ในประเด็นกิจการสาธารณะ การพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชน การหนังสือพิมพ์…” รวมถึงการใช้อวัจนภาษาและ “การแสดงออกผ่านอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต”

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังรับรองว่า “สื่อที่เสรีปราศจากการเซ็นเซอร์และการปิดกั้นมีความจำเป็นในทุกสังคมเพื่อรับรองเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก … (และ) …เป็นหนึ่งในรากฐานหลักของสังคมประชาธิปไตย” ซึ่งหมายความว่า “สื่อเสรีและสื่ออื่น ๆ ต้องสามารถแสดงความเห็นในประเด็นสาธารณะได้ โดยปราศจากการเซ็นเซอร์และการจำกัด และสามารถสื่อสารความเห็นของประชาชนได้”

แม้ว่าในบางสถานการณ์ รัฐอาจจะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกได้ แต่การจำกัดเสรีภาพนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างเคร่งครัด อีกทั้งจะต้องเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักวัตถุประสงค์อันชอบธรรม หลักความจำเป็น หลักความได้สัดส่วน และต้องไม่เลือกปฏิบัติ

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ารัฐจะสามารถจำกัดเนื้อหาใด ๆ ได้โดยอาศัยคำสั่งขององค์กรตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลางเท่านั้น อีกทั้งต้องเป็นไปตามกระบวนการอันควรทางกฎหมายและหลักความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น และความชอบธรรม รัฐไม่ควรจะกำหนดโทษอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อตัวกลางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตซึ่งจะทำให้เกิดความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นโทษปรับในอัตราสูงหรือโทษจำคุกก็ตาม

มาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญของประเทศไทยให้การคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและห้ามการ “ละเมิด” ข้อมูลส่วนบุคคล ยกเว้นเมื่อมีกฎหมายระบุไว้อย่างชัดแจ้งและจำเป็นต่อประโยชน์สาธารณะ มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญระบุว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น มาตรา 35 ระบุว่าบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

รายชื่อองค์กรที่ร่วมลงนาม

Access Now

Amnesty International Thailand

ARTICLE 19

Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)

Asian Network for Free Elections (ANFREL)

ASEAN Parliamentarians for Human Rights

Centre for Civil and Political Rights

Civil Rights Defenders

CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation

Committee to Protect Journalists

FIDH – International Federation for Human Rights

Human Rights Watch

International Commission of Jurists

Lawyers’ Rights Watch Canada

Manushya Foundation

Open Net Association

People’s Empowerment Foundation

Posted In