ประเทศไทย: ยุติการปราบปราม เคารพสิทธิในการชุมนุม

ประเทศไทย: ยุติการปราบปราม เคารพสิทธิในการชุมนุม - Civic Space

รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการปราบปรามการชุมนุม
เคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มเยาวชนและกำลังขยายวงกว้าง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและ
อาร์ติเคิล 19 กล่าวในรายงานซึ่งเปิดตัววันนี้ เจ้าหน้าที่ควรยุติการดำเนินคดีที่ไร้เหตุผลและระงับการใช้
กำลังต่อผู้ชุมนุม รัฐบาลควรเติมเต็มพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ด้วยการสร้าง
สภาพแวดล้อมที่คนไทยสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบได้อย่าง
ปลอดภัย ปราศจากความกลัวและการแทรกแซงจากภาครัฐ

“การกระทำของเจ้าหน้าที่ไทยยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผู้ชุมนุม ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย
และเคารพในสิทธิมนุษยชน” เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว
“ลูกความของเราจำนวนมากเผชิญกับโทษจำคุกหลายปี บางรายเป็นสิบปี แค่เพียงเพราะเข้าร่วมการ
ชุมนุมอย่างสงบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ใน
ประเทศไทยอย่างเปิดเผย”

รายงาน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย: การปราบปรามสิทธิการประท้วงโดยรัฐ บรรยายการละเมิด
สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับวิธีการที่รัฐบาลไทยโต้ตอบต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวนำโดยเยาวชนในปี
2563 รายงานฉบับนี้รวบรวมข้อมูลจากรายงานข่าว เอกสารทางการ ข้อมูลสาธารณะ รวมถึงบันทึก
ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลที่ถูก
ฟ้องร้องด้วยข้อหาต่าง ๆ เนื่องมาจากกิจกรรมการชุมนุม

ตั้งแต่ต้นปี 2563 คนไทยหลายพันคนจัดการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งได้รับการ
สนับสนุนจากกองทัพยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหยุดคุกคามนักกิจกรรมและบุคคลที่วิพากษ์
วิจารณ์รัฐบาล ในสามเดือนที่ผ่านมา การชุมนุมเคลื่อนไหวสื่อสารข้อเรียกร้องชัดเจนให้ปฏิรูปสถาบัน
กษัตริย์ ถือเป็นพัฒนาการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

เจ้าหน้าที่ไทยยังใช้กลยุทธ์หลายประการเพื่อพยายามกำจัดการชุมนุมเคลื่อนไหว

รัฐบาลใช้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อยับยั้งการชุมนุมสองครั้ง ในเดือนมีนาคม
รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และออกข้อกำหนดหลาย
ฉบับ รวมถึงข้อห้ามการชุมนุมสาธารณะซึ่งมีบทบัญญัติกว้างขวางและคลุมเครือ ตั้งแต่ประกาศข้อ
กำหนดกระทั่งสิ้นเดือนกรกฎาคม รัฐบาลบังคับใช้ข้อกำหนดเหล่านี้โดยพลการต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง
ประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันกลับอนุญาตให้การชุมนุมอื่นดำเนินต่อไปได้และให้กิจกรรมทาง
เศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติ ในเดือนตุลาคม รัฐบาลประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง”
เพื่อโต้ตอบต่อการชุมนุมต่อเนื่องขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่
ห้าคนขึ้นไป โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงแห่งชาติ ภายหลังการบังคับใช้หนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลประกาศ
ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีบุคคลอย่างน้อย173 คนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและกล่าวหาเกี่ยวกับกิจกรรมการชุมนุม
หลายคนถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกสองปี บ้างถูก
กล่าวหาว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับ
มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลอื่นถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวล
กฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกเจ็ดปี นักกิจกรรมและแกนนำการชุมนุมที่มีชื่อเสียงยังเผชิญข้อ
กล่าวหาในหลายคดีอีกด้วย

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิ่มวิธีและช่องทางปราบปรามผู้ชุมนุม การชุมนุมอย่างสงบหลายแห่ง
ถูกสลายโดยตำรวจปราบจลาจลโดยปราศจากคำอธิบายที่ชัดเจน และโดยวิธีการที่ละเมิดมาตรฐานการ
ใช้กำลังของเจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ยังขัดขวางทางเข้าออกสถานที่ชุมนุมและสั่งปิด
เครือข่ายขนส่งสาธารณะบางแห่ง ละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม รวมถึงผู้โดยสารและผู้อื่นที่อาศัยอยู่ใน
กรุงเทพมหานคร รัฐบาลยังประกาศคำสั่งที่พยายามให้บริษัทสื่อสังคมออนไลน์และผู้ให้บริการ
อินเตอร์เน็ตปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นการวิจารณ์รัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งขัดขวางช่องทางการ
สื่อสารของผู้ชุมนุม

การโต้ตอบของรัฐบาลต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวขัดกับพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ
พลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคี
ในปีพ.ศ. 2509 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หน่วยงานรับผิดชอบติดตามการ
บังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ ได้อธิบายความรับผิดชอบของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการชุมนุมเพิ่มเติมในข้อ
วินิจฉัยทั่วไป (General Comment) ที่ 37 ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกันยายน คณะกรรมาธิการเน้นย้ำว่าเจ้า
หน้าที่ต้องไม่เพียงแต่ระงับการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม แต่ต้องก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่บุคคลสามารถ
ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังชี้ให้เห็นว่า ตามกฎหมายสิทธิ
มนุษยชนระหว่างประเทศ การปราศรัยและการชุมนุมที่มีเนื้อหาทางการเมืองควรได้รับการคุ้มครองมาก
ขึ้น

“การกระทำของรัฐบาลไทยเสียงดังกว่าคำพูด” แมทธิว บิวเฮอร์ หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย อาร์ติเคิล 19
กล่าว “เจ้าหน้าที่ใช้ข้ออ้างความปลอดภัยสาธารณะเพื่อยับยั้งการชุมนุม แต่ต่อมากลับโจมตีผู้ชุมนุม
ด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงและล้อมด้วยตำรวจปราบจลาจลเสียเอง เจ้าหน้าที่เตือนว่าการชุมนุมเป็นการขัด
ขวางการจราจร แต่กลับปิดกั้นเส้นทางคมนาคมของทั้งจังหวัด ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำประเทศไทยจะเริ่มรับ
ฟังเสียงของผู้ชุมนุมแทนที่จะพยายามปิดปากพวกเขา”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected],

มนทนา ดวงประภา ฝ่ายข้อมูลและนักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, +66 61 314 2685,
[email protected]

อ่านบทนำและข้อเสนอแนะในภาษาไทย